ตัวแทนประกันชีวิตเอไอเอ : คุณปาริชาติ หยวกใจธรรม
โทร. 090-971-8041 อีเมล info.aiadelivery@gmail.com

โรคภัยไข้เจ็บในเด็กเล็ก ที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวัง

เด็กวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก จึงเกิดโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย และเป็นเด็กที่เริ่มมีการทำกิจกรรมใกล้ชิดกับเด็กคนอื่นๆ เช่นเริ่มมีการเข้าโรงเรียน ดังนั้นหากมีเด็กคนอื่นไม่สบาย ก็จะทำให้ติดต่อกันเป็นทอดๆ แต่ในสมัยก่อน การเจ็บป่วยมักจะไม่รุนแรง เช่น ไข้หวัด ตาแดง หิด เหา ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีโรคต่างๆเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นมากขึ้น จนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลกันบ่อยๆ

โรคในเด็กเล็ก ที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวัง

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจ สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดรุนแรงในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 5 ปีเพราะภูมิคุ้มกันยังต่ำ สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ

การรักษา RSV

     ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

     โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา จนถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ

วิธีการป้องกัน

     คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในในลูกน้อยได้โดยการรักษาความสะอาด คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้ ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย

     สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง

 

โรคมือ เท้า ปาก

     โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน อาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากจะมีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้ มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและน้ำน้อยลง

     แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรง มีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน

การรักษาโรคมือ เท้า ปาก

    โรคมือ เท้า และปากไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง เนื่องจากไม่มียาต้านเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการรุนแรงและหายได้ใน 10 วัน จึงมักเป็นการรักษาไปตามอาการของผู้ป่วย เช่น  เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรืออาจจะหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น

วิธีการป้องกัน

    ปัจจุบันยัง ไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องรักษาสุขอนามัยให้ดี และหากเป็นโรคมือเท้าปากแล้ว ให้แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อได้ ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก และหยุดการไปโรงเรียนจนกว่าจะหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

     คุณพ่อคุณแม่ควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ โรคนี้หายได้เอง แต่ควรเฝ้าระวังอาการซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น